Last updated: 20 ก.พ. 2560 | 6928 จำนวนผู้เข้าชม |
การปรับสมดุลตรีโทษะ ในคัมภีร์วรโยคสาร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
การอรรถาธิบายความทั้งหมดนี้เป็นเพียงการขยายความเพิ่มจากที่บรมครูท่านกล่าวแสดงไว้ในคัมภีร์เล่มต่างๆ
ผู้ศึกษาจำต้องเข้าใจให้ถ่องแท้จึ่งนำไปใช้อ้างอิงได้อย่างเที่ยงตรง
"เหตุเพราะคัมภีร์การแพทย์แผนไทยนั้นเปรียบดั่งกรอบการวินิจฉัยของหมอไทยประดุจเสาเอกที่มั่นคงของบ้านเรือนเปรียบดั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศที่ล่วงละเมิดมิได้ เป็นหลักยึดนำชัยในการรักษาพยาบาลผู้ไข้ทั้งปวง"
ต้องเรียนรู้ด้วยความเข้าใจในกายวิภาคศาสตร์แลสรีระศาสตร์ของบรมครูท่านทั้งหลายสิ้น นั้นคือธาตุทั้ง๔๒ประการแล เรียนรู้ความปรกติกายเพื่อจักเข้าใจในอปรกติอาการดั่งแจงไว้ในคัมภีร์สิ้นแล้ว
บรมครูท่านช่างเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้หมอไทยทั้งปวง
ด้วยสำนึกในกตัญญู กตเวทิตาธรรมแห่งบรมครูผู้รจนาคัมภีร์ทั้งมวล
(ศิษย์ในบรมครูท่าน นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา)
__________________________________________________________________________________
ในคัมภีร์วรโยคสารความตอนหนึ่งกล่าวถึง โทสะสมนะลักษณะ หรือ การระงับโทษะ(โทษ)ทั้ง 3 ประการ มีดังนี้
1. วาตะสมนะ (การระงับลม) กินอาหารลดวาตะ ได้แก่ อาหารรสหวาน เปรี้ยว เค็ม น้ำมันงา แอลกอฮอล์ เป็นต้น ดื่มน้ำอุ่นในปริมาณมาก อาบน้ำ ทาและนวดตัวด้วยน้ำมันงา อาบแดด สวนทวาร
2. ปิตตะสมนะ (การระงับปิตตะ) กินอาหารลดปิตตะ ได้แก่ อาหารรสขม หวาน ฝาด เย็น เป็นต้น อยู่ในที่ร่ม มีลมพัดถ่ายเท อาบแสงจันทร์ อาบน้ำเย็น ทาน้ำอบ เครื่องหอม กินนม เนย ทาน้ำมันเนย ทำให้ถ่ายหรือเอาโลหิตออก
3. เสมหะสมนะ (การระงับเสมหะ) กินอาหารลดเสมหะ ได้แก่ อาหารรสเผ็ด ขม อาหารหยาบ(เนื้อสัตว์ย่อยยาก) หนัก ร้อน(ให้พลังงานความร้อนเช่นไขมัน) เป็นต้น อดอาหาร ออกกำลังกายโดยเดินเท้าเปล่า เล่นน้ำ อดนอน ประคบ
การระงับโทษทั้ง 3 เป็นการปรับสมดุลเนื่องจากธาตุนั้นกำเริบ(มากเกินไป)ในธาตุนั้นๆ
อรรถาธิบายความเพิ่มได้ดั่ง ณ.บัดนี้(บทความนี้มี ๓ ตอน)
คัมภีร์ท่านกำลังสำแดงการกินอยู่ให้ถูกกับอาการที่เจ็บป่วยนั้นโดยแยกออกเป็นแต่ละตรีธาตุเพื่อลดสิ่งที่เกินระงับสิ่งที่มาก อาจารย์จักขออรรถาธิบายไปทีละธาตุๆจนครบตรีธาตุสิ้น
ตอนที่ ๑.ว่าด้วยปิตตะสมนะ
ปิตตะสมนะ ระงับซึ่งปิตตะหมายระบบแห่งความร้อนภายในกายอันเกิดแต่อาการของโรคหรืออาการแต่มิได้ก่อโรคทำให้กำเดาอุ่นกายหรือกำเดาย่อยกำเริบโดยเหตุแห่งการกำเริบนั้นมาแต่พัทธะปิตตะหรืออพัทธะปิตตะกำเริบขึ้นเสียก่อนเป็นปฐมเหตุส่วนกำเดาที่กำเริบตามมานั้นเป็นปลายเหตุ เมื่อเกิดกำเดามากจักเกิดวาตะตามมาเป็นปรกติทำให้ลมหกกองกำเริบในทางตรงข้ามกำเดาที่มากจักทำให้เสมหะกลับหย่อนลง แต่หากปิตตะหย่อนลงวาตะจักหย่อนตามเสมหะจักปรกติ คัมภีร์ท่านจึงเริ่มแก้ที่ปิตตะซึ่งเป็นต้นทางให้ดีขึ้น อาการกลางทางแลปลายทางจักคล้อยดีขึ้นตาม
ว่าด้วยเรื่องกินลดปิตตะ
รสของอาหาร,รสของเครื่องยา,รสของตำรับยาที่ชอบกับอาการทางปิตตะคัมภีร์กล่าว รสขม,รสหวาน,รสฝาด,รสเย็นขออธิบายไปตามกลไกการออกฤทธิ์ของรสทีละรสตามคัมภีร์ว่า
รสขม,รสเย็น กลไกคือกระทำให้เสมหะเย็นตัวลง เสมะหะที่งวดจักแผ่กระจายตัวออก ปิตตะกำเดาที่กำเริบจักหย่อนลงด้วยโลหิตังที่งวดร้อน เย็นตัวลงและแผ่ออก ยกนังที่ร้อนจากกำเดาจักเริ่มเย็นตัวลง กำเดาอุ่นกายจักลดลง
รสหวาน กลไกคือกระทำให้เกิดเสมหะๆที่เกิดจักมีลักษณะหนืดข้นแต่ร่างกายจักดูดซึมไปใช้ได้ดีเกิดกำลังวังชาเพราะในอาการทางปิตตะผู้ไข้จักมีภาวะอ่อนระโหยโรยแรง
รสฝาด กลไกคือกระทำให้เสมหะงวดเกิดกำเดาตามมาเพื่อสมานสิ่งที่เปิดให้ปิด เพื่อสมานอาการอักเสบภายใน
แลเกิดกำเดาขึ้นจากภาวะอักเสบนั้นเมื่อปิดแล้วกำเดาจักลดลงตาม
ประเภทของพืชผักที่ใช้ในการปรุงอาหารลดปิตตะ ฟัก,แฟง,แตงกวา,มะเขื่อเทศ,ผักบุ้ง,ผักกระเฉด,สายบัว
ใบบัวบก,มะระ,มะแว้ง,สะเดา,ตำลึง,มะเขื่อเปราะ,มะเขื่อพวง,ผักหรือผลไม้ที่ยังดิบเช่นกล้วยดิบ,หยวกกล้วย,ไข่เป็ด เป็นต้น เอามาปรุงอาหารให้ได้รสกลมกล่อม(รสกลางๆ) ตัวอย่างรายการอาหาร
ผักรสเย็นแต่ทำอาหารรสร้อนกลางๆ แกงเขียวหวานฟักเขียว,แกงคั่วสัปปะรส,น้ำพริกขี้กาแตงกวาแนมกับไข่เป็ดต้มยางมะตูม,แกงส้มผักกระเฉด เป็นต้น
ผักรสเย็นแต่ทำอาหารรสไม่จัด แกงจืดหัวไชเท้า,แตงกวาผัดไข่เป็ด,สะเดาน้ำปลาหวาน,ต้มจืดมะระยัดไส้ เป็นต้น
กินนม,เนย เป็นวิธีการแบบอายุรเวทของอินเดียเพื่อให้เกิดความอบอุ่นมากขึ้นในขณะที่ความร้อนจากกำเดาภายในควบรวมที่แกนกลางแล้วพุ่งขึ้นบนแต่แขนขาหนาวเย็น
ว่าด้วยเรื่องอยู่ลดปิตตะ
หากปิตตะกำเดากำเริบ ต้องอยู่ในที่ไม่ร้อนมากไม่เย็นมากมีสายลมพัดผ่านได้ไม่ทึบต้องโปร่งโล่งสบาย อาบน้ำ
บ่อยครั้งไม่อุ่นจัดเย็นจัดหรือใช้การเวชชะปฎิบัติชะโลมด้วยยาเขียว,ลงแช่น้ำผสมยาต้มจากเครื่องยารสขม,เช็ดตัวด้วยน้ำผสมน้ำส้มสายชู,อาบแสงจันทร์หมายเมื่อถึงเวลานอนตอนค่ำให้กายต้องแสงจันทร์เพื่อรับพลังงานความเย็นจากแสงจันทร์นั้น
วางยาถ่ายที่ไม่มีโอสถสารแรงมากนักให้ถ่ายไม่เหลวเพียงถ่ายสะดวก ส่วนการทาน้ำมันเนยเป็นวิธีของอายุรเวทอินเดียเป็นการกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนมากขึ้นกำเดาจักลดลงได้,การทาน้ำอบแลเครื่องหอมน่าจักเป็นการใช้สุคนธบำบัดทางกลิ่นสัมผัสเพื่อให้อารมณ์ดีใจเย็นกายเย็นสดชื่น
11 ธ.ค. 2567